11/04/2023
บทความนี้เหมาะสำหรับมือใหม่ที่กำลังมองหารถสามล้อไฟฟ้ามาใช้งานเป็นคันแรก แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกรุ่นไหน แบบไหน ซื้อกับร้านไหนดี โดยหลักพิจารณาเลือกซื้อเราสรุปเป็น 7 ข้อสำคัญสั้นๆ ให้ได้ตามนี้ครับ
กฎหมายเกี่ยวกับรถสามล้อไฟฟ้า
1. ลักษณะความต้องการของผู้ใช้งาน
2. อุปกรณ์สำคัญของระบบ
3. โครงสร้างและวัสดุประกอบ
4. ระบบความปลอดภัย
5. การรับประกัน
6. บริการหลังการขาย
7. ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สรุป
สามล้อไฟฟ้าที่มีจำหน่ายในบ้านเรา ขับขี่ออกถนนใหญ่ไม่ได้ เนื่องจากรถประเภทนี้ยังจดทะเบียนไม่ได้เพราะมีกฎหมายระบุไว้ว่า
"รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า ที่สามารถจดทะเบียนได้นั้น ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 0.25 กิโลวัตต์ หรือไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ โดยต้องมีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง"
ซึ่งสามล้อไฟฟ้าสเปกขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถทำความเร็วได้ถึงขนาดนั้นเพราะมีการล็อคความเร็วเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นรถสามล้อไฟฟ้าจะเหมาะกับการขับขี่บนระยะทางใกล้ๆ บริเวณซอยบ้าน เลาะถนนใหญ่นิดๆหน่อยๆได้ แต่ถ้าใช้สัญจรบนถนนใหญ่เป็นหลักก็ไม่แนะนำนะครับ
ข้อนี้สำคัญและก็ง่ายครับ เลือกให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละวันของท่าน โดยจะแยกตามขนาดพื้นที่โดยสาร ต้องการเดินทาง 1 ท่าน 2 ท่าน 3 ท่าน ตรงนี้ก็ต้องเลือกรถให้เหมาะครับ ซึ่งในแต่ละแบบก็จะมีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป
- รถสามล้อไฟฟ้าแบบตอนเดียว (นั่งได้ 1 คน) ข้อดีคือตัวรถจะสั้น คล่องตัว เลี้ยวง่าย ข้อเสียก็มีบ้าง การยึดเกาะถนนอาจจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า
- รถสามล้อไฟฟ้าแบบ 2 ตอนแยก (นั่งได้ 2-3 คน) ถ้าเน้นการเดินทางเป็นครอบครัวแบบนี้จะนั่งสบายที่สุดครับ ตัวรถอาจจะยาวกว่า กลุ่มรถ 1 นั่ง ความคล่องตัวอาจจะลดไปเล็กน้อย การเลี้ยวอาจจะต้องตีวงกว้างขึ้น
- รถสามล้อไฟฟ้าแบบ 2 ตอนปรับเลื่อนได้ (นั่งได้ 1-2 คน) ยอดฮิต ข้อดีคือ คล่องตัวกว่า แบบ 2 ตอนแยก และนั่งได้เยอะกว่าแบบตอนเดียว ข้อเสียคือ เมื่อมีการปรับเคลื่อนบ่อยๆ อุปกรณ์ในจุดปรับเลื่อนจะสึกหรอเสี่อมสภาพไวขึ้นครับต้องดูแลดีๆ หน่อย
ข้อที่ 2 เราจะเจาะลึกลงไปอีก แพง-ถูก จุดนี้เป็นตัวกำหนดเช่นกันครับ เพราะอุปกรณ์พวกนี้มีมากมายหลากหลายเกรดมากๆ ครับ หลักๆ เราจะดูอยู่ 2 ชิ้นส่วน คือ แบตเตอรี่และมอเตอร์ครับ
แบตเตอรี่รถสามล้อไฟฟ้าในไทยปัจจุบัน 98% ใช้แบตเตอรี่แบบ Lead Acid (ตะกั่วน้ำกรด) เกือบทั้งหมด เพราะมีราคาถูก หาง่ายครับ เราเลยจะขอพูดในส่วนของแบตเตอรี่ตะกั่วเท่านั้น
สำหรับในการเลือกซื้อเราควรดูเรื่องของ Life Cycle อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ เป็นหลัก แต่ร้านค้าส่วนใหญ่มักจะโชว์สเปกแค่ในส่วนของ Performance เท่านั้น เช่น ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งได้ไกล 40 กม. ซึ่งเป็น Performance มาตรฐานของแบตเตอรี่อยู่แล้ว
แต่ที่สำคัญที่สุดใน Spec แบตเตอรี่คือ Life Cycle ครับ เพราะเป็นตัวชี้วัดเรื่องความคุ้มค่า ถ้ายิ่งใช้งานได้นานก็จะยิ่งคุ้มค่าครับ ผมขอยกตัวอย่างชุดตัวเลขที่บอกถึง Life Cycle ของแบตเตอรี่นะครับ
"600 cycles at 100%DOD" หมายความว่า
แบตเตอรี่ ชาร์จไฟจาก 0% จนเต็ม 100% จะสามารถชาร์จได้ถึง 600 ครั้ง นั่นเอง
ปัจจุบัน สามล้อไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ใช้เป็น Brushless motor กันหมดแล้ว แต่ก็มีให้เลือกหลากหลายเกรดเช่นกัน ควรดูเรื่องมาตรฐานที่สากลรองรับ เช่น IP Rating มาตรฐานการป้องกันฝุ่นและน้ำหรือ Motor Efficiency มาตรฐานการวัดประสิทธิภาพมอเตอร์ระดับสากล มีเรทตั้งแต่ IE 1-4 ครับ ตัวเลขยิ่งมากยิ่งดีครับ
source: soundddshop.com
IP Rating มาตรฐานการป้องกันฝุ่นและน้ำ จะมีตัวเลข 2 หลัก หลักแรกจะเป็นคะแนนการป้องกันฝุ่น หลักที่สองจะเป็นเรทคะแนนการป้องกันน้ำ ยิ่งตัวเลขยิ่งสูงคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่นและน้ำก็จะมากตามขึ้นไปครับ
มาตรฐาน IE เป็นการวัดประสิทธิภาพตามมาตรฐานของอเมริกา จะมีตั้งแต่ IE1 (Standard Efficency) ไปจนถึง IE4 (Super Premium High Efficiency)
สรุป อุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญในรถสามล้อไฟฟ้า อย่างมอเตอร์และแบตเตอรี่ จะไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองเพราะส่วนใหญ่แต่ละร้านจะไม่แจ้งอย่างชัดเจน อาจจะต้องสอบถามเรื่องของสเปกกับทางร้านเองนะครับ
จากประสบการณ์ที่เราทำธุรกิจกับโรงงานผลิตที่ประเทศจีนมานาน 10 กว่าปี แต่ละแห่งจะมีกระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพแตกต่างกันครับ
หลายๆ ที่พยายามลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันเรื่องราคาได้ ซึ่งเกรดงานวัสดุโครงสร้างก็จะลดตามลงไปด้วยครับ สิ่งเหล่านี้ดูง่ายครับมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลักๆ ที่จะมองเห็นเลยว่าคุณภาพต่างกันก็จะมีตามนี้ครับ
- โครงสร้างตัวถังรถ ดูในส่วนของความหนาของโครงสร้าง ความปราณีตของงานเชื่อมครับ
- กระบอกโช๊คอัพและสปริง ดูความหนา ใหญ่ ของสปริงและกระบอกโช๊คครับ
- ชุดสีตัวรถ (แฟริ่ง) เลือกเกรดที่มีการเคลือบป้องกัน UV จะใช้งานได้นานกว่า สีซีดช้ากว่าครับ
เป็นปัจจัยที่ผู้ใช้งานต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ แต่ส่วนใหญ่กลับมองข้ามกันไป ระบบความปลอดภัยผมขอแยกออกเป็น 2 แบบนะครับ
- ระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์ภายใน
ในส่วนนี้ จะเกี่ยวกับ ระบบความปลอดภัยพื้นฐานที่โรงงานผลิตใส่เข้ามาในระบบไฟฟ้า เช่น ระบบการตัดไฟอัตโนมัติของ Adapter , เบรกเกอร์ตัดกระแสไฟ, ระบบป้องกันการบิดคันเร่งที่เร็วเกินไป หรือ ระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างระบบชะลอตัวเมื่อขึ้นเนินชัน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา สำคัญครับ แนะนำให้ลองศึกษาสเปกและสอบถามผู้จำหน่ายก่อนครับ ว่ามีหรือไม่
- ระบบเสริมความปลอดภัยภายนอก
ระบบนี้ จะเน้นฟังก์ชั่นนอกตัวรถครับ เช่น สัญญาณกันขโมย, ระบบล็อคคอรถ, ระบบล็อคมอเตอร์, เสียงสัญญานเตือนต่างๆ หรือ ล้อหลังกันรถหงายในกรณีวิ่งบนทางลาด เป็นอีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรมองข้ามครับ
สรุป ระบบต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามีถือว่าดีครับ เพราะจะช่วยให้การควบคุมรถมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวังครับ
การรับประกันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง “ระยะเวลาการรับประกัน” หากยิ่งนานยิ่งสบายใจครับเป็นอีกส่วนนึงของความคุ้มค่าครับ แต่อย่าพลาดมองแค่ระยะเวลาการรับประกันเท่านั้นนะครับ เราแนะนำให้สอบถามเรื่องเงื่อนไขการรับประกันเพราะมันจะมีเงื่อนไขยิบย่อยมากครับ รวมถึงผู้ขายหัวหมอมีเยอะครับ แนะนำให้ถามร้านค้าที่จะซื้อให้ละเอียดก่อนนะครับ เช่น
- ชิ้นส่วนไหนบ้างที่รับประกัน แต่ละจุดรับประกันนานเท่าไหร่?
- เงื่อนไขในการรับประกันและเงื่อนไขที่ไม่ได้รับประกัน?
"เพราะการรับประกันที่ยาวนานและครอบคลุมในทุกส่วนเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดของความคุ้มค่าครับ"
บริการหลังการขายนั้น มี 2 ช่วงเวลาด้วยกัน ซึ่งทั้งสองช่วงนี้ ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ
ช่วงแรก คือ บริการหลังการขายที่อยู่ในระยะเวลาการรับประกัน
ช่วงที่สอง คือ ช่วงระยะเวลาหลังจากสิ้นสุดการรับประกันแล้วครับ
แนะนำให้ดู เรื่องเงื่อนไขในการบริการ ค่าบริการ ความสะดวกในการซ่อมบำรุง ด้วยนะครับ เพราะ รถสามล้อไฟฟ้านี้อาจจะต้องเป็นช่างเฉพาะทางถึงจะเซอร์วิสได้ครับ
เรื่องบริการซ่อมนอกสถานที่ถ้ามีด้วยก็ถือว่าดีเลยครับ บางร้านอาจจะต้องยกรถไปซ่อมเอง ถ้าเกิดมีรถขนไปก็ดีครับ แต่ถ้าไม่มีอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากๆ แน่ครับ
และจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ ความพร้อมของร้านค้าในการบริการอะไหล่
เพราะว่า รถสามล้อไฟฟ้า เป็นตลาดเล็กที่กำลังจะโต อะไหล่ค่อนข้างเฉพาะทาง หาตามร้านทั่วไปอาจจะยากนิดนึงครับ
หัวข้อนี้ เราจะพูดถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับตัวรถสามล้อไฟฟ้าเมื่อใช้งานปกติเท่านั้นนะครับ ไม่รวมค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงหรือค่าบริการซ่อมใดๆ
ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่จริงๆ จะมีแค่แบตเตอรี่ครับที่ต้องเปลี่ยน ทุก 2-3 ปี โดยปกติรถสามล้อไฟฟ้าจะใช้แบตเตอรี่ 4-5 ก้อน ตีเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 5,000-7,000 บาท ครับ ก็อาจจะต้องเตรียมสตางค์เผื่อไว้นิดหน่อย
ส่วนค่าไฟในการชาร์จต่อครั้ง คร่าวๆ จะอยู่ที่ 3-4 บาท ต่อ การชาร์จ ชาร์จครั้งนึง วิ่งได้ 40-50 กม. 3 วันชาร์จที ค่าไฟตกปีละ 400-500 บาทครับ
7 ข้อที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอด 15 ปี ส่วนตัวผมรับสายลูกค้า(ที่ซื้อรถจากที่อื่น) ซื้อไปแล้วขับไม่ได้บ้าง ซื้อไปแล้วจอดทิ้งเพราะไม่มีอะไหล่บ้าง ซื้อไปแล้วแบตเตอรี่เสียตั้งแต่ 3 เดือนแรกบ้าง ไม่มีสตางค์เปลี่ยนแบตเตอรี่ ปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดจากการเลือกรถสามล้อไฟฟ้าโดยอาจจะยังไม่เข้าใจ และความรับผิดชอบต่อลูกค้าต่ำของผู้ขาย
สำหรับผมเอง ถ้าต้องซื้อรถสามล้อไฟฟ้าให้คนที่เรารัก ไม่จำเป็นต้องเลือกรถสามล้อไฟฟ้าที่ดีที่สุด ฟังก์ชั่นครบที่สุดหรือแพงที่สุด แต่จะเลือก
"รถสามล้อไฟฟ้าที่ขับขี่แล้วเหมาะสมกับผู้ใช้งาน คอนโทรลง่าย ปลอดภัย และมี After Service ที่สะดวกครับ"